วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

ปลากัด



ปลากัด

วิธีการเลี้ยงปลากัด

        ปลากัดเป็นสัตว์เลี้ยงที่น่าสนใจมาก เพราะมันมีสีสันที่สวยงาม ไม่ต้องใช้พื้นที่ในการเลี้ยงมากนักและมีราคาที่ไม่แพงจนเกินไป ตัวผู้จะมีหางที่ยาวในขณะที่ตัวเมียดูเรียบง่ายกว่าเมื่อเทียบกับตัวผู้ ปลากัดเป็นปลามีสีสันหลากหลายเช่น แดง ฟ้า ม่วง และขาวเพื่อให้ปลากัดมีสุขภาพที่ดีและร่างเริงมีข้อแนะนำที่ควรปฏิบัติตามดังนี้ในการเลี้ยงปลากัดควรแยกเพศผู้ให้อยู่ตัวเดียวเพราะถ้าอยู่ร่วมกันมันจะต่อสู้กันจนเกิดการตายได้แต่ถ้าเป็นปลาเพศเมียจะมีนิสัยไม่ดุร้ายและสามารถที่จะเลี้ยงรวมกันเป็นจำนวนมากได้ปลากัดมีถิ่นกำเนิดตรงบริเวณน้ำนิ่งที่เป็นทุ่งข้าวทางเอเชียใต้ ดังนั้นปริมาณออกซิเจนที่มันได้รับจึงต่ำมันจึงมีการช่วยหายใจโดยงับเอาอากาศที่บริเวณผิวน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนด้วยเหตุนี้ปลากัดจึงไม่ต้องการท่อออกซิเจนในภาชนะเลี้ยงปลาและขนาดของภาชนะไม่ควรจะเล็กเกินไป ควรมีขนาดที่พอเหมาะ โดยอาจจะเป็นภาชนะที่ใช้เลี้ยงปลากัดโดยเฉพาะ หรือ อาจนำแก้วใส่บรั่นดีขนาดใหญ่มาเลี้ยงก็ได้ควรจะใส่กรวดหินพืชน้ำหรือหาวัสดุมาตกแต่งที่เลี้ยงปลาให้สวยงามเพื่อให้เป็นบ้านที่น่าอยู่สำหรับปลากัดและมีความสวยงามแก่ผู้ที่พบเห็นอีกด้วยน้ำในภาชนะเลี้ยงควรเปลี่ยนทุก2อาทิตย์ โดยน้ำที่เปลี่ยนนี้ต้องมีสภาวะที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงปลากัดเช่นในน้ำประปาจะมีสารแปลกปลอมโดยเฉพาะคอร์รีนซึ่งจะเป็นอันตรายต่อปลากัด ดังนั้นก่อนจะเปลี่ยนน้ำควรพักน้ำประปาไว้2วันก่อน เพื่อให้ คอร์รีน ในน้ำระเหยออกไปในอากาศ ผู้เลี้ยงอาจจะใช้น้ำกรองหรือน้ำที่ซื้อมาจากร้านขายปลาก็ได้ นอกจากนี้ควรเก็บน้ำเดิมไว้1/4ส่วนรวมกับน้ำที่จะนำมาเปลี่ยน3/4ส่วน เพราะจะเป็นการรักษาสมดุลของแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อปลากัด ผู้เลี้ยงควรทำความสะอาดภาชนะด้วยผ้าหรือกระดาษที่สะอาด ไม่ควรใช้สารทำความสะอาดเพราะถ้าตกค้างจะเป็นอันตรายต่อปลากัด นอกจากนี้อุณหภูมิของน้ำควรจะเท่ากับอุณหภูมิห้องก่อนที่จะนำปลากัดไปปล่อยในน้ำด้วย

อาหารปลากัด

ไรแดงน้ำจืด
              ไรแดงเหล่านี้ หาได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป หรือเพื่อความสะดวกก็หาซื้อได้ตามร้านขายอาหารปลา แนะนำให้ใช้แบบสด เนื่องจาก สามารถใช้เลี้ยงได้ตั้งแต่ลูกปลาแรกเกิด โอกาสที่น้ำจะเสีย
ค่อนข้างน้อยกว่าการให้แบบแช่แข็ง เพราะอาหารที่ตายแล้ว ส่วนใหญ่ลูกปลามักไม่ค่อยสนใจ จนทำให้เศษอาหาร ที่เหลือเป็นตัวทำให้น้ำเน่าเสีย แล้วก็ทำให้เราดูแลลำบากมากขึ้น เพราะการจะย้ายลูกปลานั้น ค่อนข้างยาก จะเปลี่ยนถ่ายน้ำก็ไม่ได้ เพราะเดี๋ยวลูกปลาจะเล็ดลอดติดไปกับสายยางที่ใช้ดูดน้ำเสีย                การให้อาหารลูกปลานั้นต้องระวังพอสมควร ให้ปริมาณพอเพียง แต่ให้บ่อยหน่อยจะดีกว่า นอกจากใช้เลี้ยงลูกปลาแล้ว ไรแดงสามารถใช้เลี้ยง
ปลาโตเต็มวัยได้ด้วยเช่นกัน

หนอนแดง
            หนอนแดงหาจากแหล่งน้ำธรรมชาติได้บ้าง แต่ไม่มากนัก เหมาะสำหรับเลี้ยงปลาโตเต็มวัยดีมาก ค่อนข้างสะอาด โปรตีนสูง ถ้าเป็นแบบสด ซื้อมาแล้วก็ล้างน้ำให้สะอาดอีกสักหน่อย ก็ให้ปลากินได้เลย ส่วนแบบแช่แข็ง ต้องมีวิธีการให้นิดนึง เนื่องจากตายแล้ว เพียงแต่ยังคงความสดอยู่ เวลาไปซื้อก็สังเกตที่แพ็คเกจด้วย หนอนแดงแช่แข็งที่ใหม่สีจะแดง ถ้าเห็นออกเป็นสีดำๆ นั่นเป็นหนอนแดงที่เก่าแล้ว เวลาให้ปลาจะเน่าเสียได้ 
            วิธีการให้ปลากิน ก็มีดังนี้ เนื่องจากหนอนแดงแช่แข็ง จะแบ่งเป็นหลุมสี่เหลี่ยมลูกเต๋าแล้ว ง่ายต่อการแบ่งออกมาใช้ หากปลาไม่มาก เพียงแค่หลุมเดียวก็น่าจะพอ แต่ถ้าเลี้ยงปลาเยอะ ก็คงต้องใช้หลายหลุุมก็กะเอาตามความเหมาะสม หลังจากนำออกจากฟอยล์แล้ว ใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ แล้วหันไปทำภาระกิจอื่นก่อนได้เลย ปล่อยให้หนอนที่จับตัวเป็นก้อน ละลายเอง เมื่อหนอนละลายแล้ว ก็นำช้อนหรือ อุปกรณ์ใดๆ ที่สะดวกมาตักแต่ตัวหนอน นำไปให้ปลากิน เฉลี่ยโดยประมาณ 10 เส้น ต่อ 1 ตัว จะให้อาหารวันละครั้ง หรือสองครั้งก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องให้มาก เดี๋ยวท้องอืด สาเหตุที่ต้องปล่อยให้หนอนแดงละลายเอง เพราะความคาวของเลือดจะยังคงอยู่ แต่ถ้าหากนำไปละลายกับน้ำจะทำให้เลือดละลายออกไปหมด ปลาจะไม่ค่อยสนใจเข้ามากินอาหาร

ไรทะเล
             อาหารตัวนี้ สามารถให้ปลากัดกินได้ แต่เนื่องจากมีความเค็มอยู่ในตัวมาก อาจจะไม่เป็นผลดีต่อปลากัดเท่าไหร่นัก
ก่อนจะให้ปลากินต้องล้างน้ำเปล่าหลายๆ ครั้งเพื่อทำให้ความเค็มเจือจางลง


 ลูกน้ำ
            เป็นอาหารที่หาง่าย โปรตีนสูงมากๆ ปลาชอบกิน จะสังเกตได้ เวลาเลี้ยงปลากัดด้วยลูกน้ำ ปลาจะตัวหนา โตไว แต่ก็ต้องล้างน้ำให้สะอาดที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะลูกน้ำมักจะอยู่ตามน้ำครำสกปรก  หากล้างไม่สะอาดปลากินเข้าไป โอกาสที่จะทำให้เป็นโรคก็สูงด้วยเช่นกัน แนะนำให้ล้างตามขั้นตอนดังนี้ เริ่มจากนำลูกน้ำที่ช้อนได้มาคัดกรองขยะมูลฝอยที่ติดมาพร้อมกับกระชอนออกซะก่อน โดยหาตาข่ายขนาดที่ลูกน้ำสามารถแทรกตัวออกไปได้ แล้วเศษขยะก็จะติดอยู่กับตาข่าย จากนั้นก็รอสักพัก ลูกน้ำจะคายเศษสกปรกออกมา เราก็ตักออกไปแช่ในน้ำใหม่ที่ผสมด่างทับทิมเจือจาง แล้วรอสักครู่ จึงตักขึ้นย้ายไปยังน้ำสะอาดที่เตรียมไว้ แล้วก็รอต่อไปอีกสักพัก จึงตักลูกน้ำย้ายไปยังน้ำสะอาด
อีกหนึ่งรอบเป็นอันเสร็จสิ้น เท่ากับเราต้องล้างน้ำ ถึง 4 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเชื้อโรค และความสกปรกที่อยู่กับลูกน้ำถูกชะล้างออกไปมากพอ แล้วเราก็นำไปให้กับเหล่าปลากัดแสนรักกินได้เลย

สายพันธุ์ปลากัด 

ปลากัดป่า หรือ ปลาลูกทุ่ง


 
              ที่พบในธรรมชาติ ตามท้องนา หนองบึง ส่วนใหญ่จะเป็นปลาขนาดเล็กที่ไม่เด่นมากนัก ในสภาพปกติสีอาจเป็นสีน้ำตาลเทาหม่น หรือสีเขียว และอาจมีแถบดำจาง ๆ พาดตามความยาวของลำตัว อาศัยหลบซ่อนตัวอยู่ระหว่างพรรณไม้น้ำในที่ตื้น ความพิเศษของปลากัด อยู่ที่ความเป็นนักสู่โดยธรรมชาติเมื่อพบปลาตัวอื่นจะเข้าต่อสู้กันทันที และที่พิเศษยิ่งกว่านั้นคือการที่ปลาตัวผู้สามารถเปลี่ยนสีให้งดงามเมื่อถูก กระตุ้น ในสภาวะตื่นตัวครีบทุกครีบจะแผ่กางออกเต็มที่ แผ่นเยื่อหุ้มเหงือขยายพองตัวออก พร้อมกับสีน้ำเงินหรือแดงที่ปรากฏขึ้นมาชัดเจนในโทน ต่าง ๆ ทำให้ดูสง่าอาจหาญ และสวยงาม ปลาป่าแท้นั้นส่วนมากครีบ หางและกระโดงที่ภาษานักแปลงปลาเรียกรวมว่า “เครื่อง” จะมีสีแดงเกือบตลอดมีประดำบ้างเล็กน้อย บางทีอาจมีเส้น เขียว ๆ แซมบ้าง อย่างที่เรียกว่าเขียวก็มีเพียงแต้มเขียวอ่อน ๆ ที่กระโดงเท่านั้น เวลาถอดสีปกติทั้งตัวและ เครื่องเป็นสีน้ำตาลจืด ๆ คล้ายใบหญ้าแห้ง ที่ห้อยแช่น้ำอยู่ ลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งของ ปลากัดก็คือเป็นปลาที่มีอวัยวะช่วยหายใจพิเศษที่อยู่บริเวณเหงือกทำให้ปลา สามารถใช้ออกซิเจน จากการฮุบอากาศได้โดยตรง ปลากัดจึงสามารถทนทานดำรงชีวิตอยู่ได้ในที่ที่มีออกซิเจนต่ำ ตำนานเล่าขานของปลากัดจึงค่อนข้างแปลกประหลาด ไปกว่าสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ บทความ “ธรรมชาติของปลากัดไทย) โดย ม.ล. ยิ่งศักดิ์ อิศรเสนา ที่เขียนไว้เมื่อปี 2496 ได้พูดถึงการขุดหา ปลากัดในรูปูนา ตามขอบหนอง ชายบึง ริมคู และรางน้ำ ซึ่งปลากัดเข้าไปอยู่อาศัยปน อยู่กับปูในรูตั้งแต่ต้นฤดูหนาว เมื่อน้ำเริ่มลดไป จนตลอดหน้าแล้งปูก็จะขุดรูลึก ตามระดับน้ำลงไปเรื่อย ๆ ปลากัดจะออกมาแพร่พันธุ์ใหม่ในต้นฝนในเดือนพฤษภาคม กระจายออกไปหากินตามที่มีหญ้ารก ๆ ในเขตน้ำตื้นปลากัด เป็นปลาที่ชอบน้ำตื้น จึงไม่พบตามแม่น้ำลำคลอง หนองบึง ที่มีน้ำลึก อันที่จริงในธรรมชาติการต่อสู่กันของปลากัดไม่จริงจังเท่าไรนัก ส่วนมากมักแผ่พองครีบหางขู่กันเพื่อแย่งถิ่น บางตัวเห็นท่าไม่ดีก็อาจเลี่ยงไปโดยไม่ ต่อสู้กันเลยก็มี แต่บางคู่ก็ต่อสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิง ปลาตัวผู้ตัวไหนที่ยึดชัยภูมิเหมาะได้ที่ ก็จะก่อหวอดไว้แล้วพองตัวเบ่งสี เกี้ยวตัวเมียที่ผ่านไปมา เพื่อผสมพันธุ์วางไข่

ปลากัดหม้อ



              Bettar Fighting Fishปลาลูกหม้อหรือปลาหม้อนั้นเป็นปลากัดที่ถูกนำมาคัดสายพันธุ์โดยนักพันธุศาสตร์สมัครเล่นชาวไทยที่มุ่งหวัง จะได้ปลาที่กัดเก่ง จากบันทึกคำบอกเล่า ของนักเลงปลาเก่าอย่าง หลวงอัมรินทร์สมบัติ (ครอบสุวรรณนคร) คาดว่า ปลาลูกหม้อน่าจะถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงประมาณปี 2430 ซึ่งท่านจำได้ว่า ก่อนหน้านั้น ยังต้องจับปลาป่า มากัดพนันกันอยู่ต่อมานักเลงปลาบางคนก็เริ่มใช้วิธีไปขุดล้วงเอาปลาป่าที่ อาศัยอยู่ตามรูปูในหน้าแล้งมาขังไว้ในโอ่ง มาเลี้ยงดูให้อาหาร พอถึงฤดูฝนก็นำมากัดพนันกับปลาป่า ซึ่งส่วนใหญ่จะสู้ปลาขุดที่เลี้ยงมาไม่ได้ การเล่นปลาขุดนี้ยังนิยมเล่นกันมาถึงประมาณ ปี 2496 หลังจากนั้นก็มีการเก็บปลาที่กัดเก่งเลี้ยงไว้ข้ามปี และหาปลาป่าตัวเมียมาผสม ลูกปลาที่ได้จากการผสมในชุดแรกจะเรียกว่า “ปลาสังกะสี” ซึ่งสัณนิษฐานว่าน่าจะได้ ชื่อมาจากผิวหนังที่หนาแกร่ง ไม่ถูกกัดขาดง่ายเหมือนปลาป่าและปลาขุด ปลาสังกะสีมักจะตัวใหญ่ สีสันลักษณะ ต่างจากปลาป่าและปลาขุด นักเลงปลาป่าจึงมักไม่ยอมกัดพนันด้วย จึงต้องกัดแข่งขันระหว่างปลาสังกะสีด้วยกันเอง ปลาสังกะสีที่เก่ง อดทน สวยงามก็จะถูกคัดไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ เมื่อผสมออกมา ก็จะได้ปลาลักษณะรูปพรรณสีสันที่สวยงาม แปลกออกไปตามอัธยาศัยของผู้ผสมพร้อม ความเก่ง และอดทนในการกัดจะว่าไปแล้วพันธุศาสตร์สัตว์น้ำของเมืองไทย นับได้ว่าเริ่มมาตั้งแต่ยุคนี้ คำว่า “ลูกหม้อ” นั้นมาจากการใช้หม้อดินในการเพาะและอนุบาลปลากัด ในระยะแรก ๆ ปลาลูกหม้อจึงเป็นปลาสายพันธุ์ ที่สร้างมาแท้ ๆ กับมือของนักเลงปลาทั้งหลาย เพื่อให้ได้ลักษณะที่ดีสำหรับการต่อสู้และให้มีสีสันที่สวยงามตามความพอใจ ของเจ้าของ ปลากัดลูกหม้อจึงมีรูปร่าง หนาใหญ่กว่าปลากัดชนิดอื่น สีสันสวยงามดูแล้วน่าเกรงขามกว่าพันธุ์อื่น ๆ สีส่วน มากจะเป็นสีน้ำเงิน แดง เทา เขียว คราม หรือแดงปนน้ำเงิน ใน การเล่นปลากัดในยุคก่อนนั้นปลาลูกหม้อจะมีสองประเภท “ลูกแท้” และ “ลูกสับ” ลูกแท้ หมายถึง ลูกปลาที่เกิดจากพ่อแม่ ่ที่มาจากครอกเดียวกัน และลูกสับหมายถึงลูกปลาที่เกิด จากพ่อแม่ที่มาจากคนละครอก ปลากัดลูกหม้อนี้ถ้าเอาไปผสมกลับกับปลาป่าลูกปลาก็จะ เรียกว่า “สังกะสี” เช่นเดียวกัน ซึ่งปลาสังกะสีซึ่งเกิดจากการผสมกลับแบบนี้ส่วนมากก็จะมีชั้นเชิงและน้ำอด น้ำทนในการกัดสู้ลูกหม้อไม่ได้ “ลูกหม้อ” จึง เป็นสุดยอดของปลากัดสำหรับนักเลงปลาทั้งหลาย ในระยะหลัง ๆ ก็อาจมีการพูดถึงสายพันธุ์ “มาเลย์” หรือ “สิงคโปร์” ซึ่งว่ากันว่ากัดเก่งหนังเหนียวแต่โดยแท้จริงก็คือปลาลูกหม้อ นั่นเอง เพียงแต่ว่าในระยะต่อมามีการประยุกต์ใช้กลวิธีการ หมักปลาด้วยสมุนไพร ใบไม้ ว่าน ดินจอมปลวก และอื่น ๆ เพื่อช่วยเคลือบเกล็ดปลา ที่เชื่อกันว่าจะทำให้เกล็ดแข็งกัดเข้า ได้ยาก ควบคู่ไปกับการคัดเลือกพันธุ์ ถึงอย่างไร ลูกหม้อก็คือลูกหม้อที่เราชาวไทยพัฒนามาแต่โบราณแม้จะถูกนำไป พัฒนาสายพันธุ์ในที่อื่นก็ยังคงเป็นลูกหม้อไทยตัวเดิมนั่นเอง

ปลากัดจีน



              เป็นชื่อที่ใช้เรียกปลากัดครีบยาวมาช้านาน เข้าใจว่าอาจมาจากลักษณะครีบที่ยาวรุ่ยร่ายสีฉูดฉาดเหมือนงิ้วจีน ปลากัดจีนเป็นปลาที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากปลาลูกหม้อ โดยผสมคัดพันธุ์ให้ได้ลักษณะที่มีครีบและหางยาวขึ้น ความยาวของครีบหางส่วนใหญ่จะยาวเท่ากับ หรือมากกว่าความยาวของลำตัวและหัวรวมกัน และมีการพัฒนาให้ได้สีใหม่ๆ และสวยงาม โดยนักเพาะเลี้ยงปลากัดชาวไทย ซึ่งได้พัฒนาสายพันธุ์สำเร็จมาช้านาน ก่อนที่ปลากัดจะถูกนำไปเลี้ยงในต่างประเทศ แต่ไม่มีการบันทึกไว้ว่า การพัฒนาปลากัดสายพันธุ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด ปลากัดชนิดนี้เป็นชนิดที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามแพร่หลายไปทั่วโลก และได้มีการนำไปพัฒนาสายพันธุ์ต่อเนื่อง จนได้สายพันธุ์ที่มีลักษณะใหม่ๆ ออกมาอีกมากมาย

ปลากัดหางสามเหลี่ยม หรือปลากัดเดลตา
 

เป็นปลาที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากปลากัดครีบยาว หรือปลากัดจีน โดยพัฒนาให้หางสั้นเข้าและแผ่กว้างออกไปเป็นรูปสามเหลี่ยม ขอบครีบหางกางทำมุม ๔๕ – ๖๐ องศา กับโคนหาง และต่อมาได้พัฒนาให้ครีบแผ่ออกไปกว้างมากยิ่งขึ้น เรียก “ซูเปอร์เดลตา” ซึ่งมีหางแผ่กางใหญ่กว่าปกติ จนขอบครีบหางด้านบนและล่างเกือบเป็นเส้นตรง

ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีก หรือปลากัดฮาล์ฟมูนเดลตา

 
เป็นปลากัดที่มีหางแผ่เป็นรูปครึ่งวงกลม โดยขอบครีบหางจะแผ่เป็นแนวเส้นตรงเดียวกันเป็นมุม ๑๘๐ องศา ได้มีแนวคิดและความพยายามในการที่จะพัฒนาปลากัดสายพันธุ์นี้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ ในประเทศเยอรมนี แต่เพิ่งประสบผลสำเร็จเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยนักเพาะเลี้ยงปลากัดชาวฝรั่งเศสและชาวเยอรมัน
ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีกมีลักษณะที่สำคัญ คือ ครีบหางแผ่เป็นรูปครึ่งวงกลม โดยขอบครีบด้านหน้าจะแผ่เป็นแนวเส้นตรงเดียวกันเป็นมุม ๑๘๐ องศา ครีบด้านนอกเป็นขอบเส้นโค้งของครึ่งวงกลม ก้านครีบหางแตกแขนง ๒ ครั้ง เป็น ๔ แขนง หรือมากกว่า ปลาที่สมบูรณ์จะต้องมีลำตัวและครีบสมส่วนกัน โดยลำตัวต้องไม่เล็กเกินไป ครีบหางแผ่ต่อเนื่องหรือซ้อนทับกับครีบหลังและครีบก้น จนเห็นเป็นเนื้อเดียวกัน ขอบครีบหลังโค้งมนเป็นส่วนหนึ่งของวงกลม เส้นขอบครีบทุกครีบโค้งรับเป็นเส้นเดียวกัน (ยกเว้นครีบอก) ปลายหางคู่ที่แยกเป็น ๒ แฉกจะต้องซ้อนทับและโค้งมนสวยงาม ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีกที่แท้จริงจะต้องมีขอบครีบหางแผ่ทำมุม ๑๘๐ องศา ได้ตลอดไป ถึงแม้ปลาจะมีอายุมากขึ้นก็ตาม
 
 ปลากัดหางมงกุฎ หรือปลากัดคราวน์เทล


เป็นปลากัดที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยนักเพาะเลี้ยงปลากัดชาวสิงคโปร์ เป็นปลากัดสายพันธุ์ใหม่ที่มีหางจักเป็นหนามเหมือนมงกุฎ และเป็นสายพันธุ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมเลี้ยงกันมากในปัจจุบัน ลักษณะสำคัญของปลากัดชนิดนี้คือ ก้านครีบจะโผล่ยาวออกไปจากปลายหาง ลักษณะดูเหมือนหนาม ซึ่งอาจยาวหรือสั้นแตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับลักษณะการแยกของปลายหนาม และการแยกการเว้าโคนหนามก็มีหลายรูปแบบ ปลากัดหางมงกุฎที่สมบูรณ์จะมีครีบหางแผ่เต็มซ้อนทับได้แนวกับครีบอื่นๆ และส่วนของหนามมีการจัดเรียงในรูปแบบที่สวยงามสม่ำเสมอ
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น